ขับรถตาม GPS เรื่อย ๆ ก็มาถึงบ้านขนงพระใต้ที่ตั้งของ “สวนไฟฝัน”
ฐานที่มั่นของกลุ่ม “ไม้ขีดไฟ”
ตรวจ atk แหย่จมูกจนน้ำตารื้น นั่งรอผลบนเก้าอี้ปิกนิกที่มุมหนึ่งไกล ๆ เสร็จแล้วถ่ายเซลฟี่ยืนยันว่าปลอดเชื้อโควิดจึงจะได้เข้าไปร่วมวงกับคนอื่นๆ
อาคารหลังเล็กๆหลายหลังที่โอบล้อมสนามหญ้าเขียวๆเอาไว้ บอกได้ชัดเจนว่าที่แห่งนี้สร้างขึ้นมาเพื่อกิจกรรมค่ายและการรวมกลุ่มของผู้คน มีตาข่ายสำหรับให้เด็กๆปีนป่าย บ้านดิน เตาอบพิซซ่า มุมหนังสือและโต๊ะกลางลานสำหรับการนั่งรวมกลุ่มสนทนา
นกกระรางหัวขวานคู่หนึ่งหากินแมลงอยู่บนสนามหญ้า
ช่างเป็นบรรยากาศสบายๆ ยามเช้าที่เหมาะกับการทำความรู้จักกันยิ่งนัก
เป้าหมายของการเดินทางครั้งนี้อยู่ที่การเรียนรู้และเอามาเล่าเรื่อง
คนจัดไม่ได้บีบบังคับว่าจะต้องเขียนออกมาเป็นอะไร จะวาดก็ได้ จะเขียนก็ได้เต็มที่
“ไม่ต้องเล่าเรื่องพวกพี่ก็ได้..” พี่กุ๋ยบอก
เอ้าาา..ก็อุตส่าห์เหนื่อยยากจัดกิจกรรมขึ้นมา ก็ขอเล่าเสียหน่อยนะพี่นะ..
อย่างที่เกริ่นเรื่องสวนไฟฝันไปว่าเป็นพื้นที่จัดกิจกรรมของกลุ่มไม้ขีดไฟ
Activist ที่ใครหลายคนคุ้นเคยเป็นอย่างดี
ตัวเราเองโฉบไปโฉบมาและเคยแอบมาร่วมกิจกรรมที่จัดในโรงเรียนขนงพระเมื่อหลายปีก่อนเคยไปฟังเตหน่ากู่กลางป่าด้วยกันคราวที่พี่ชิ สุวิชาน มาเล่นที่เขาใหญ่
แล้วก็ห่างหายไปทำสิ่งที่ชอบ ๆ กันอยู่นานจนมาคราวนี้
วันที่โลกกลม ๆ หมุนมาครบรอบในช่วงหลายปี
พี่กุ๋ยพี่เอ เล่าเรื่องชีวิตกิจกรรมและที่มาที่ไปของพื้นที่ตรงนี้ให้ฟัง เริ่มจากวัยหนุ่มสาวชาวค่ายแห่งรั้วรามคำแหง ผู้เชื่อว่าทักษะชีวิตนั้นสำคัญพอๆกับความรู้ ผ่านการขับเคลื่อนงานชุมชนมามากมายหลายประเด็น เมื่อจังหวะชีวิตเริ่มเข้าสู่การสร้างครอบครัว มีลูกและไม่อยากให้ลูกเติบโตในสังคมเมืองหลวง จึงปักหมุดพื้นที่ระยะทาง 200 กิโลเมตรจากกรุงเทพฯ เพื่อสร้าง “บ้าน” สักหลัง
“ตอนสร้างบ้านที่นี่ พี่กำลังท้อง เตรียมจะคลอด
พอคลอดปุ๊ปพี่ก็หอบลูกลงไปอยู่บ้านพ่อกับแม่ที่สุราษฎร์สามเดือน ส่วนพี่กุ๋ยก็สร้างบ้านอยู่ที่นี่เพื่อรอรับลูกกลับบ้าน” พี่เอเล่าความหลัง
วันนี้น้อง “เพลงฝน” ลูกสาวของบ้านอยู่มอสองแล้ว และไปร่ำเรียนอยู่ที่ปีนัง
สิบกว่าปีที่สวนไฟฝันของกลุ่มไม้ขีดไฟ ไม่ใช่แค่ความตั้งใจของสามีภรรยาผู้น่ารักคู่หนึ่งเท่านั้น หากเป็นพื้นที่ของมิตรสหายและพี่น้องอีกหลายคน
เราได้พบพี่เฌอ บอม เจ้ย ผู้อยู่ร่วมหัวจมท้ายกันมาตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาอยู่รามคำแหง
วนเวียนไปมา ทำกิจกรรมร่วมกัน แม้ว่าชีวิตจะแยกย้ายไปสร้างครอบครัว ดูแลพ่อแม่
ตามวัยและจังหวะชีวิต
“เราไม่เชื่อในระบบการศึกษา” พี่กุ๋ยบอก
“หมายถึงระบบการศึกษาที่มุ่งสร้างคนเข้าระบบอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ สอนคนเป็นเครื่องจักร เด็กหลายคนมีโอกาสน้อยมากที่จะค้นว่าเขาชอบหรือไม่ชอบอะไร เพราะระบบการศึกษาบ้านเราเน้นการผลิตคนออกมาตามแบบที่เขาอยากให้เป็น ไม่ใช่แบบที่เด็กเป็น เราอยากเห็นการศึกษาที่เป็นการศึกษาจริง ๆ ที่เราเรียนรู้ตามอัธยาศัยและจริตของเด็กแต่ละคนได้”
พี่เอพี่กุ๋ยฉายภาพกิจกรรมให้พวกเราดู ว่าไม้ขีดไฟทำอะไรมาบ้าง ที่นี่ทำกิจกรรมกับเยาวชนทุกแบบ ไม่ได้ยึดอยู่แค่เด็ก ๆ นอกระบบ แต่พยายามทำกับเด็ก ๆ ในระบบการศึกษาด้วย ทั้งไปจัดค่ายในโรงเรียน ครูในโรงเรียนขนนักเรียนมาหาที่สวน ทั้งพ่อแม่ผู้ปกครองขนลูกมา ทั้งพี่กุ๋ยไปขนฝรั่งมาเป็นครูอาสาให้เด็ก ๆ ในย่านนี้บ้าง หลอกล่อน้องนักศึกษาเอกจีน
จากธรรมศาสตร์มาทำค่ายภาษาจีนบ้างก็มี
ไม้ขีดไฟกลักนี้จึงเป็นผู้จุดประกายไฟให้กับใครต่อใครมาได้ยาวนาน ผลิดอกออกผล
น้องร่วมค่ายในวันก่อน หลายคนเติบโตไปทำตามความฝันของตัวเอง และมีหลายคนที่วันนี้กลับมาทำหน้าที่พี่ดูแลน้อง ๆ รุ่นต่อ ๆ ไป
………………………………………………………
สนใจเข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่มไม้ขีดไฟ
สอบถามรายละเอียด และอื่นๆ ได้ที่ Line : kuisattha หรือที่ 081 7321412
เขียนโดย
จันทรัสม์ จันทรทิพรักษ์ (นุ๊ก)
สถาปนิกชุมชน ทำงานด้านกระบวนการมีส่วนร่วม เชื่อในกระบวนการเรียนรู้ผ่านการเดินทาง ผู้คน งานคราฟ อาหาร และบทสนทนาดี ๆ