ตามไปดูกลุ่มไม้ขีดไฟ สอนศิลปะ

ตามไปดูกลุ่มไม้ขีดไฟ สอนศิลปะ

เกาะติดขอบสนาม  ตามไปดูกิจกรรมศิลปะสัญจร ที่กลุ่มไม้ขีดไฟสัญจรไปชวนเด็กๆ ในโรงเรียนขยายโอกาส ระดับประถม  4-6ตะลุยเข้าสู่โลกศิลปะที่หลากหลาย  จำนวน  8  โรงเรียนๆละ  2  รอบ  รวมๆแล้ว  16   รอบ  มีเด็ก ๆ ที่ได้ผ่านกิจกรรมนี้ประมาณ600 คน

ความน่าสนใจของกิจกรรมนี้อยู่ที่การตั้งสมมุติฐานว่า  โรงเรียนขนาดเล็ก มักจะไม่ค่อยให้ความสำคัญกับวิชาศิลปะ  ขาดครูที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง  และการเรียนศิลปะในโรงเรียนก็มักจะเรียนแค่วาดภาพระบายสี  ท้ายที่สุด  เด็กที่สนุกกับการวาดก็จะวาดได้ดีอยู่กลุ่มหนึ่ง  ส่วนคนที่ไม่ถนัดวาดก็ไม่มีช่องให้เลือกลง  ตกขอบไปตามระเบียบ

เมื่อสมมุติฐานชัด  กิจกรรมก็ชัดเจนว่า  เด็กๆต้องได้เข้าสู่โลกแห่งศิลปะ  อย่างหลากหลาย  เด็กทุกคนต้องรู้สึกสนุก  และภูมิใจกับผลงานของตัวเอง  ต้องไม่มีผลงานของใครถูกโยนทิ้งถังขยะ  กิจกรรมศิลปะสัญจรครั้งนี้จึงประกอบไปด้วย  งานปั้น  งานประดิษฐ์ของเล่นจากวัสดุใกล้ตัว งานสีที่ไม่ต้องวาด  และงานภาพพิมพ์จากไม้  โดยมีข้อตกลงที่เด็กๆทุกคนต้องปฏิบัติตาม   3  อย่าง คือ 

  1. ไม่มีคำว่า ทำไม่ได้แต่ให้พูดว่า “หนูทำได้”
  2. ผลงานทุกชิ้นสวยเท่ากันและ
  3. ให้ชมผลงานของเพื่อนแทนการล้อผลงานของเพื่อน

เมื่อลงปฏิบัติจริง  พบว่าสมมุติฐานของเรานั้น  ไม่มีอะไรผิดพลาด  โรงเรียนส่วนใหญ่ไม่มีครูศิลปะ  ครูคนไหนก็สอนศิลปะได้  และวิชาศิลปะมักไม่ถูกให้ความสำคัญ  แถมบางโรงเรียนที่เจอ  บางชั้นไม่มีเรียนวิชาศิลปะ

ศิลปะ  ไม่ใช่แค่ วาดภาพระบายสี

Q :  ในโรงเรียนสอนวิชาศิลปะมั๊ย

A :  สอนครับ  อาทิตย์ละ  1   ครั้ง

Q :  สอนอะไรบ้างคะ

A :  วาดภาพ  ระบายสี  ทฤษฎีสี  (ตอบแบบนี้เกือบ  100%)

Q : ใครเป็นคนสอนศิลปะ

A  : ครูประจำชั้น  สอนทุกวิชาเลยค่ะ  (มีน้อยโรงเรียนที่จะมีครูศิลปะ) 

Q : ครูสอนเทคนิคการวาดแบบไหนบ้าง 

A : ครูให้วาดอะไรก็ได้

คำตอบสุดท้ายนี่สะท้อนใจที่สุด  เราเองก็เรียนศิลปะกับครูแบบนี้ “เอ้า ไป ไปวาดอะไรก็ได้มาส่ง”  จนทุกวันนี้วาดอะไรไม่เป็นเลยนอกจาก  ภูเขา  2  ลูกมีพระอาทิตย์ตรงกลาง  นี่ยังมีวิธีสอนแบบนี้ในยุคนี้อีกเหรอ  ยุคที่ครูเองก็สามารถเปิดยูทูป  ค้นหาวิธีสอนสนุกๆได้สารพัด แต่ทำไม?  ไม่ทำ

เด็กๆหลายคนที่เราไปเจอ  เพื่อนบอกว่า เป็นเด็กเก่งศิลปะ  แต่พอมาเจองานประดิษฐ์  แบบไม่มีกรอบแต่ให้ใส่จินตนาการได้เต็มที่  กลับทำไม่ได้  ใช้วลานานกว่าเพื่อนกว่างานจะสำเร็จ  เพราะศิลปะของเด็กๆคือการวาดภาพให้เหมือน  ระบายสีให้สวยเนี๊ยบ  นั่นคือ ศิลปะ

แต่ในความเป็นจริง  และควรจะเป็น  คือ   การจัดประสบการณ์ศิลปะสำหรับเด็กนั้น  ต้องจัดให้หลากหลาย  และเน้นเด็กเป็นศูนย์กลาง  เพราะเมื่อพูดถึงศิลปะ  ใครๆก็รู้ว่ามีตั้งหลายประเภท

มีนักปราชณ์บางท่านแบ่งศิลปะซึ่งเรียกว่า “วิจิตรศิลป์ (Fine Art )  ออกเป็นตั้ง  13  ประเภท คือ 

  • จิตรกรรม(Painting)
  • ประติมากรรม(Sculpture)
  • สถาปัตยกรรม(Architecture)
  • วรรณกรรม(Literature)
  • ดนตรี(Music)
  • นาฏกรรม(Drama) ละคร
  • ภาพยนตร์(Cinema)
  • ภาพถ่าย(Photo)
  • ภูมิปัญญา(Knowledge)
  • งานแกะสลัก( Carvings)
  • งานปักผ้า( Embroidery)
  • งานประดิษฐ์(Craft work)
  • ศิลปะลายเส้น(Line Art)

(อ้างอิงจากวิกิพีเดีย)

เอาหละ  ไม่ต้องจัดประสบการณ์ให้เด็กครบทั้ง  13  ประเภทก็ได้  เพียงแค่ขอให้มีความหลากหลายบ้าง  เพื่อจะได้ตอบสนองความถนัดที่แตกต่างกันของเด็ก  มีข้อมูลหนึ่งของ คุณเลิศ    อานันทะ จาก  www.thaiartstidio.com   เขียนเปรียบเทียบการจัดประสบการณ์ศิลปะให้เด็กระหว่างแบบเก่า  และแบบใหม่ ไว้อย่างสนใจดังนี้

แบบเก่า

แบบใหม่

ครูคือศูนย์กลางของห้องเรียนที่ทุกคนต้องเชื่อฟัง

เด็กเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ ส่งเสริมให้แสดงออกอย่างอิสระ  ภายใต้ระเบียบข้อตกลงร่วมกัน

กำหนดเนื้อหาแน่น ตายตัว

เนื้อหาไม่แน่นอน สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามความสนใจของผู้เรียน

มุ่งเน้นให้เด็กทำตามตัวอย่าง หรือผลงานของคนที่ประสบความสำเร็จแล้ว

ส่งเสริมให้เด็กแสงออกโดยวิธีการแบบแก้ปัญหา  จึงไม่นิยมทำตัวอย่างให้เด็กดูทุกครั้ง  นอกจากบางกรณีที่จำเป็นครั้งคราว

ยึดถือเอาผลงานเป็นเป้าหมายปลายทางในการเรียนรู้

ไม่ถือว่าผลงานเป็นสิ่งสำคัญแต่เน้นที่กระบวนการเรียนรู้ เช่น การสร้างเสริมศิลปะนิสัย มีรสนิยมที่ดี  ดังนั้นผลงานจึงเป็นเพียงผลพลอยได้เท่านั้น

มุ่งพัฒนาเด็กเฉพาะอวัยวะบางส่วนเท่านั้น เช่น ความแม่นยำในการใช้ประสาทตาและกล้ามเนื้อนิ้วมือ เป็นต้น

มุ่งพัฒนาเด็กตลอดชีวิต

วัดและประเมินผลโดยครูเพียงฝ่ายเดียว

 

วัดและประเมินผลโดยครูและนักเรียนร่วมกัน

 

มีจุดมุ่งหมายเพื่อฝึกคนให้เป็นศิลปินหรือช่าง

 

มีจุดหมายเพื่อจัดเตรียมกำลังคนให้มีคุณภาพโดยไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นช่างศิลป์  เด็กโตขึ้นอาจมีอาชีพอื่นๆ ก็ได้

สำหรับเราอ่านแล้วโดนทุกข้อ  ใช่ทุกประโยค  โดยเฉพาะข้อสุดท้าย  เราคิดเสมอว่า  เราเรียนศิลปะ  เราส่งลูกเรียนศิลปะ  ไม่ใช่เพื่อต้องการจะเป็นศิลปินที่คว้ารางรางวัลมากมาย  แต่เราเชื่อมั่นว่าโลกของศิลปะจะสร้างความสุนทรียะให้ชีวิตมนุษย์  และเราก็เชื่ออีกว่าถ้ามนุษย์เข้าถึงความสุนทรียะของชีวิตได้  มนุษย์จะใช้ชีวิตเป็น  แก้ปัญหาเป็น  เหมือนคำของ ศาตราจารย์ศิลป์ พีระศรี   ที่กล่าวไว้ว่า

“ศิลปะไม่ได้สอนให้นายวาดรูปหรือเขียนรูปเป็นอย่างเดียว
แต่……..สอนให้นายรู้จักชีวิต”

เพราะฉะนั้นจึงไม่มีเหตุผลใดเลยที่จะทิ้งเด็กที่ทักษะทางศิลปะไม่ดี  ไม่สามารถปั้นให้คว้ารางวัลได้ไว้หลังห้อง  แต่ควรเปิดโอกาสให้เขาได้เข้าสู่โลกของศิลปะเพื่อไปเป็นผู้เสพผลงานของศิลปิน อย่างผู้มีอารยะต่อไป

“ความสวย”ในงานศิลปะของเด็ก ทำไม ?มีแบบเดียว

A : ชอบมั๊ยแบบนี้  (เราถามเด็กกลุ่มหนึ่งที่กำลังเป่าสีลงกระดาษ)

Q : ชอบค่ะ  มันสนุกดี  เลอะด้วย

A  :  แล้วชอบผลงานตัวเองมั๊ย  มันสวยมั๊ย

Q :  ชอบค่ะ  แต่ไม่สวยหรอกหนูว่า

 A :  อ้าว  ทำไมหละ  แล้วแบบไหนสวย

Q :  (คิดอยู่นาน)  ก้อ….แบบวาดสวยๆอ่าค่ะ

            เมื่อโลกศิลปะของเด็กแคบแค่การวาดภาพระบายสีให้เหมือน  ความสวยจึงมีเท่านั้นจริงๆ  ยิ่งเหมือนยิ่งสวย  ยิ่งเนี๊ยบยิ่งสวย  การให้ค่างานศิลปะจึงมุ่งไปที่แบบเดียว  มุมมอง  ทัศนะต่องานศิลปะที่เราบ่มเพาะลงในเด็กจึงแคบอย่างน่าตกใจ

            เช่นนี้แล้ว  อย่าว่าแต่เราจะปั้นศิลปินมือดีเลย  แค่ปั้นผู้ชมงานศิลปะที่มีคุณภาพ  เรายังทำไม่ได้เลย

เพราะเราไม่สามารถนำพาเด็กๆไปถึง “ความงาม” ได้  เพราะเมื่อเราพูดถึงศิลปะ  เรามักจะหมายถึงความงาม  “ความงาม” เป็นเรื่องของคุณค่า  แต่เป็นคุณค่าทางสุนทรียะ  ไม่ใช่คุณค่าทางเศรษฐกิจ  เป็นคุณค่าต่อจิตใจ  ไม่ใช่เหตุผล  ความคิด  หรือข้อเท็จจริง  เราเคยได้ยินใครซักคน เคยพูดไว้ว่า  คนที่สัมผัสความงามได้ง่ายมักจะเป็นผู้ที่มีความสุขมากกว่าคนที่ค้นไม่พบความงามจากสิ่งรอบตัวเลย

         เพราะฉะนั้นเมื่อความสวย  ความงาม  ของเด็กๆไปผูกติดกับความเหมือน  ความเนี๊ยบ  ความถูกต้องตามทฤษฎี  การจะเจอความงามจากสิ่งรอบตัวจึงเป็นเรื่องยากมากขึ้น

            “การเรียนศิลปะต้องไม่มุ่งแต่ สร้างศิลปิน  แต่ต้องสร้างผู้เสพงานศิลปะด้วย  ไม่ว่าเขาจะอยู่ในสาขาอาชีพใดก็ตาม”

ยิ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ยิ่งไม่ควรละเลยวิชาศิลปะ
                  โรงเรียนขนาดเล็ก  โรงเรียนขยายโอกาส  เป็นโรงเรียนที่นักเรียนส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดเป็นเด็กจากในชุมชน  มาจากครอบครัวเกษตรกรที่อาจจะไม่ได้ต้องการมุ่งสู่อาชีพทางวิชาการไปซะทั้งหมด  ทักษะชีวิตจึงน่าจะเป็นคำตอบสำคัญในการเติบโตอย่างมีคุณภาพของเด็กๆกลุ่มนี้  ศิลปะจึงเป็นวิชาที่ตอบโจทย์เป็นอย่างดี  หากเราจะให้ความสำคัญในการเรียนการสอนวิชาศิลปะให้มากกว่านี้  เพราะ  ศิลปะไม่ได้สอนเพียงเพื่อให้เด็กสอบวาดรูปเป็นเท่านั้น  แล้วศิลปะ  สอนอะไรในชีวิตเด็กบ้าง

  1. ศิลปะสอนให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์เพราะการเรียนศิลปะ  ช่วยให้เด็กๆได้คิดนอกกรอบ  ได้ลองคิดอะไรในมุมมองใหม่  ศิลปะไม่มีผิดถูก ศิลปะเป็นเรื่องของการสร้างสรรค์  ข้อนี้ไม่น่าจะมีใครไม่เห็นด้วย
  2. ศิลปะช่วยเพิ่มความมั่นใจ เกิด Self Esteemเพราะการที่ได้อธิบายพูดคุยถึงผลงานของตนเองอย่างไม่มีผิดถูก  เป็นการค่อยๆเพิ่มทักษะความมั่นใจลงในใจเด็กได้เป็นอย่างดี
  3. ศิลปะช่วยฝึกทักษะการแก้ปัญหาเพราะแนวทางของการทำงานศิลปะเด็กๆสามารถแก้ปัญหาได้หลากหลายแนวทาง  คำตอบของศิลปะต้องไม่ใช่คำตอบเดียว
  4. ศิลปะฝึกให้เด็กมีสมาธิข้อนี้ก็เป็นสิ่งที่ทุกคนน่าจะรู้อยู่แล้ว  เพราะการทำงานศิลปะแต่ละชิ้นให้สำเร็จนั้น เด็กๆต้องจดจ่อ  ต้องมีสมาธิ  บางชิ้นงานอาจใช้เวลาหลายวัน
  5. ศิลปะฝึกความรับผิดชอบแน่นอนว่าการทำงานศิลปะแต่ละชิ้นให้สำเร็จได้นั้นเด็กๆต้องอาศัยความรับผิดชอบสูงมาก
  6. ศิลปะช่วยให้เกิดความฉลาดทางอารมณ์ความรู้สึกที่ซับซ้อนยากที่จะอธิบาย  ศิลปะจะช่วยให้เด็กๆสื่อสารความรู้สึกนั้นออกมาเป็นชิ้นงานได้  ศิลปะจะช่วยให้เด็กๆเข้าใจความรู้สึกตัวเอง  วิเคราะห์ว่าจะสื่อสารออกมาอย่างไร
  7. ศิลปะฝึกการสังเกตศิลปะจะช่วยให้เด็กๆรู้จักสังเกตสิ่งรอบตัวมากขึ้น  และมีมุมมองต่อสิ่งรอบตัวที่หลากหลายมากขึ้น  ซึ่งส่งผลต่อความละเอียดอ่อนต่อการใช้ชีวิตด้วย

                           (อ้างอิงบางส่วนจากเพจเรียนเมืองนอก เรียนอินเตอร์ ค้นหาตัวเอง)

 

                  เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว  จึงไม่เห็นเหตุผลใดใด ที่วิชาศิลปะจะถูกตัดออก  หรือถูกไม่ให้ความสำคัญ  เพราะเมื่อเราเติบโต ไปใช้ชีวิตไม่ว่าจะอยู่ในสาขาอาชีพใด  ศิลปะเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องใช้ตั้งแต่  ตื่นนอนจนเข้านอน  ตั้งแต่เล็กจนโต  “เพราะศิลปะไม่ใช่แค่วิชาชีพ  แต่มันคือชีวิต”

 By>>>  TONSOM

(17 sep 2020)

สนใจสนับสนุนให้เด็กได้เรียนศิลปะ 
สนใจร่วมเป็นอาสาสมัครกลุ่มไม้ขีดไฟ
ติดต่อกลุ่มไม้ขีดไฟ