#เล่นๆ ในทัศนะนักเขียนสารคดี

#เล่นๆ ในทัศนะนักเขียนสารคดี

            “ทำเล่นๆ…”

            แม้แต่เรื่องสำคัญที่สุดในชีวิตอย่างการบรรลุธรรม อริยสงฆ์ด้านกัมมัฏฐานวิปัสสนาอย่างพระอาจารย์คำเขียน สุวัณโณ ยังพร่ำสอนลูกศิษย์ลูกหาอยู่เสมอว่าให้ทำแบบเล่นๆ

            แล้วกับเรื่องอื่นใดอีกมากมายทั้งหลายแหล่ในชีวิต ทำไมเราจะไม่ทำแบบเล่นๆ กันเล่า?

            อะไรก็ไม่รู้ ที่ทำให้นับวันเรามีแต่ห่างจากเรื่องเล่นกันออกไปเรื่อยๆ

            อย่างแรกคงต้องชายตาไปที่ระบบการศึกษาแผนใหม่ ที่เด็กๆ ต้องแข่งกันเข้าไปอยู่ในห้องเรียนตั้งแต่ยังไม่ทันหย่านม 

            ตามวิถีของการศึกษาเรียนรู้ในระบบที่เป็นอยู่นี้ การกระโดดโลดเต้นเที่ยวเล่นอย่างอิสระตามสัญชาตญาณของเด็กๆ อาจถือเป็นเรื่องไร้สาระ เสียเวลา น่าหวั่นวิตก เดี๋ยวเรียนไม่เก่ง ตามเพื่อนไม่ทัน ฯลฯ และอีกสารพัดความกังวลที่กลายเป็นเหตุกางกั้นเด็กยุคนี้ให้ห่างจากเรื่องเล่น-อย่างเป็นตัวของตัวเอง  แล้วให้หันมุ่งไปสู่ความเป็นเลิศในเรื่องใดเรื่องเดียว-แบบสวนเกษตรเชิงเดี่ยว

            บางทีเราอาจลืมไปว่าเครื่องบินนั้นเกิดจากพี่น้องที่ชวนกันเล่นเครื่องร่อนลงจากหน้าผา  ไอแซค นิวตัน ก็อาจไม่มีโอกาสได้ค้นพบเรื่องโน้มถ่วงของโลก หากมีแต่คนคอยเรียกให้ทำการบ้านโดยไม่ยอมปล่อยให้นอนเล่นๆ ใต้ร่มไม้บ้างเลย  นี่ยังไม่นับถึงประดิษฐ์กรรมด้านศิลปกรรมหรือนวัตกรรมทั้งหลาย ซึ่งล้วนแต่ต้องมาจากพื้นฐานความคิดอิสระที่จะต่อยอดไปสู่การเป็นผู้บุกเบิกสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ  ดูเหมือนในภาษาอังกฤษจะเรียกสิ่งนี้ว่า Original

            สิ่งที่เด็กๆ ยุคใหม่มีโอกาสได้เล่นมากๆ มักเป็นการเล่นกับ “จอ” ประเภทต่างๆ สารพัด ซึ่งผมไม่กล้าแน่ใจเลยว่านั่นจะเรียกว่า เล่น ได้หรือไม่

            การเล่นควรเป็นเรื่องที่ได้เคลื่อนไหวขยับกายได้เหงื่อ ได้ความแจ่มใส่ ได้สูดอากาศ ได้ทัศนียภาพ ได้พบเจอเพื่อน และอาจรวมถึงการบาดเจ็บหรือขัดใจกันเล็กๆ น้อยๆ ด้วย  ได้ฝึกการแก้ปัญหา ใช้ความคิดพลิกแพลง วางแผนเพื่อไปสู่เป้าหมาย  ซึ่งเกมในจอดูจะเป็นด้านตรงข้ามกับสิ่งที่กล่าวมาแทบทั้งหมด และที่สำคัญเป็นการเล่นตามกรอบที่โปรแกรมเมอร์วางไว้ กลเกมแบบนี้ยากที่จะทำให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ขึ้นในใจในตัวคนเล่น  ดังนี้แล้วเราจะนับเกมในโลกเสมือนว่าเป็น การเล่น ได้หรือ?

            การเล่นที่จะเป็นประโยชน์ต่อเนื่องไปในชีวิต ต้องเชื่อมโยงอยู่กับความเป็นอิสระ เอื้อต่อการใช้ความคิดสร้างสรรค์ต่อยอดให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ได้อย่างเสรี

            อนึ่ง แม้ว่าด้วยเรื่องเล่นๆ แต่คงไม่ใช่การปล่อยปละตามยถากรรม 

            หลังคำว่า “ทำเล่นๆ …” ที่พระสอน ท่านยังต่อท้ายด้วยว่า “…แต่ให้ทำจริงๆ”

            ทำเล่นๆ แต่ทำจริงๆ

            บนหนทางธรรมสู่ความหลุดพ้น หรือในสนามเด็กเล่นก็คงไม่ต่างกัน

            เล่นๆ แบบไม่ต้องเคร่งเครียด แต่ให้ใจ เอาจริงแบบกัดไม่ปล่อย!

 

วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

ปีใหม่  ๒๕๖๔