ถ้าลูกไม่ไปโรงเรียนทำอะไรกันดี

ถ้าลูกไม่ไปโรงเรียนทำอะไรกันดี

ด้วยเราเป็นคนทำงานกิจกรรมเด็กและเยาวชนมาตั้งแต่เป็นนักศึกษา  จบแล้วก็ไม่อยากทำงานอื่นใดนอกจากทำกิจกรรมที่วนเวียนอยู่กับเด็กและเยาวชนเรื่อยมาจนมีกลุ่มเป็นของตัวเองที่ทำงานด้านเด็กและเยาวชนมากว่า  20  ปีที่ ชื่อ “กลุ่มไม้ขีดไฟ”  และเป็นที่ที่ทำให้ได้ทำงานที่ฝัน  และใช้ชีวิตที่เลือกไปกับงานจนทุกวันนี้

เมื่อมีเด็กเป็นของตัวเอง  !!! ทำงานเด็กมาตลอดชีวิตการทำงาน  เมื่อมีลูกเป็นของตัวเองก็อยากใช้วิชาความรู้สารพัดอย่างที่ทำงานกับเด็กคนอื่นๆ ทำงานกับลูกด้วย  พื้นที่ตรงนี้ ที่ชื่อ “สวนไฟฝัน Suanfaifun”  จึงเกิดขึ้น  เพื่อเป็นพื้นที่ที่สร้างกิจกรรมต่างๆนานา  ในการเลี้ยงลูกของเรา  และเพื่อนของลูกจำนวนมากด้วย

จึงตั้งใจที่จะแบ่งปันสิ่งที่เป็นประสบการณ์ทั้งการเลี้ยงลูก  ทั้งการทำงานกับเด็กปนๆกันไปเพื่อเป็นแนวทางให้พ่อแม่มือใหม่ทั้งหลาย  เป็นประสบการณ์ของเราในฐานะแม่และคนทำกิจกรรมเด็กที่ลงมือทำจริง เกิดขึ้นจริงทั้งกับลูกและกับเด็กคนอื่นๆ ไม่ใช่ในฐานะผู้เชี่ยวชาญใดใด……

แน่นอน  ทุกอย่างไม่ได้สวยหรู ล้มลุกคลุกคลาน  แต่ทุกอย่างมันจริง ใช้ทุกประสบการณ์ที่มี ทั้งการทำงาน ทั้ง ประสบการณ์ ที่ได้จากการอ่าน  อ่าน  และอ่านเยอะมากตอนเป็นแม่มือใหม่   ฟัง  คุย ปรึกษา ทำหมดแต่ทุกอย่างที่อ่าน ฟัง  ทำ ก็ใช่จะใช้กับลูกเราได้เสียทั้งหมด (เพราะเด็กแต่ละคนล้วนต่างกัน) จึงต้องลงมือทำในแบบของเราเอง  “เลี้ยงลูกเล่นเล่นให้เป็นสุข”  คือ  พาลูกเล่น  พาลูกอ่าน  พาลูกกิน  พาลูกเที่ยว  พาลูกลงมือทำ  เน้นมีความสุขไปด้วยกันเป็นพอ  และเมื่อตัดสินใจไม่ส่งลูกเข้าโรงเรียน  ความยากอีกขั้นเริ่มบังเกิด สารพัดคำถามที่ต้องทำงานกับตัวเอง  โดยมีลูกที่รอจะเดินทางไปพร้อมกับเรา……..

  • ไม่ไปโรงเรียน  แล้วจะอ่านออกได้อย่างไร ?
  •  ไม่ไปโรงเรียนแล้วจะมีเพื่อนได้อย่างไร  ?
  •  ไม่จับมือเขียนตามเส้นประ  แล้วจะเขียนเป็นได้  อย่างไร  ?
  •   เที่ยวๆ เล่นๆแล้วจะมีวินัยได้อย่างไร  ?
  •   ฯลฯ
ทุกประสบการณ์ที่ทำไม่กล้าบอกว่าดีที่สุด  ถูกที่สุด เหมาะที่สุด   แต่เหมาะกับเรา เหมาะกับลูกของเรา และนั่นคือสิ่งที่แต่ละครอบครัวต้องหาให้เจอ  จึงคาดหวังว่าประสบการณ์นี้น่าจะเป็นแนวทางให้อีกหลายๆคนที่กำลังค้นหาแนวทางการเลี้ยงลูกในแบบของตน  เพราะธรรมชาติให้ผู้หญิงตั้งท้องใด้ก็จริง  แต่การเป็นแม่  ไม่ใช่สิ่งที่ธรรมชาติให้เราติดตัวมาตั้งแต่เกิด  เราจึงต้องพัฒนา ฝึกฝน เรียนรู้และเติบโตไปพร้อมกับลูกด้วย   เรามาเริ่มเรื่องแรกที่อยากแบ่งปันกันเลยดีกว่า…….
อ่านหนังสือให้ลูกฟังตอนไหนดี

  เราทำงานกับเด็ก  เราเป็นนักอ่าน  เราทำงานเรื่องการอ่านกับเด็กทั่วประเทศ  เมื่อมีลูก สิ่งแรกที่คิดและทำ  คือ “ลูกต้องเป็นนักอ่าน” เราต้องอ่านนิทานให้ลูกฟัง เพราะเราต่างก็รู้ดีว่า  การอ่านหนังสือให้เด็กฟังส่งผลดีต่อเด็กมากมายขนาดไหน

เราเริ่มอ่านนิทานให้ลูกฟัง  ตั้งแต่อายุครรภ์  4  เดือน  ย้ำอีกที  อายุครรภ์  ได้  4  เดือน ไม่ใช่อายุลูก 4 เดือน  หรือ ช่วงที่ลูกเริ่มดิ้นดุ๊กดิ๊กในท้อง นอกจากเรื่องการกินของดีมีประโยชน์แล้ว  นี่เป็นอีกเรื่องที่เราทำ  วิธีการง่ายๆแบบเรา  คือ  หาที่เงียบๆ อยู่กัน 2 คน  (จริงๆคืออยู่คนเดียว เพราะลูกอยู่ในท้อง  ฮ่า ฮ่า)  ก่อนลงมืออ่านลูบหน้าท้องเบาๆคุยกับเค้าว่าเรากำลังจะทำอะไรกัน  (เกริ่นนำนิดนึง ให้ลูกตั้งตัว) แล้วก็ลงมืออ่าน  อ่านไปด้วยลูบท้องไปด้วยเบาๆ  ใช้เวลาแค่  10-15  นาทีต่อวันเท่านั้น  แต่ ทำทุกวัน  มีผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า ถ้าทำเวลาเดิมๆได้จะยิ่งดี

แล้วจะอ่านอะไรหละ ?  สำหรับเรา ซึ่งมีหนังสือนิทาน (ซึ่งใช้ทำงานอยู่แล้ว)  อยู่รอบตัว  เราก็หยิบนิทานนั่นแหละมาอ่าน อ่านซ้ำๆ ครั้งละ  2-3  เล่ม วนๆไป  แต่ความจริงแล้ว อ่านอะไรก็ได้  เพราะความสำคัญของการอ่านในช่วงวัยนี้  ไม่ได้อยู่ที่เนื้อหาสาระของหนังสือที่อ่าน  แต่อยู่ที่การได้ยินเสียงแห่งความอ่อนโยน  เสียงแห่งความรักจากผู้เป็นแม่  เป็นพ่อซะมากกว่า  เราเคยอ่านเจอคุณแม่ตั้งท้องตอนกำลังทำ Thesis  ต้องอ่าน  ต้องหาข้อมูลอยู่แล้ว  เลยอ่านสิ่งที่ตัวเองต้องทำงานนั่นแหละให้ลูกฟังไปด้วยเลย  ได้เหมือนกัน

สิ่งที่ได้จากการทำแบบนี้ คือ  ลูกจะจดจำเสียงของพ่อหรือแม่ที่เป็นคนอ่านประจำๆให้ฟังได้  ความจำนั้นพิสูจน์ได้ทันทีเมื่อเค้าลืมตาดูโลกและเราคุยกับเค้า  เมื่อลูกคลอดแล้วการอ่านให้ฟังต่อเนื่องยิ่งช่วยสร้างความมั่นคงในความรักให้ลูก  เพราะเค้ายังได้ยินเสียงเดิม   จังหวะเดิมๆที่เคยได้ยิน (ลองอ่านเล่มเดิมที่เคยอ่านบ่อยๆตอนเค้าอยู่ในท้องให้ฟังดูซิ  แล้วจะพบปฏิกิริยาที่แสนมหัศจรรย์)  มากไปกว่านั้นที่เราพบกับลูกคือ  ไม่ว่าจะช่วงวัยไหน  เค้าฟังนิทานได้  เค้ามีสมาธิกับนิทาน  และไม่เคยโวยวาย ฉีกหนังสือเลย  จนกลายเป็นเด็กที่เรียกได้ว่า “รักการอ่าน” จนถึงปัจจุบัน

ง่ายๆ แค่นี้เอง รอไรหละคะ เริ่มกันเลยคร้าคุณ……..

เรื่องโดย  สุมณฑา  ปลื้มสูงเนิน  คุณแม่นักพัฒนาและเลี้ยงลูกแบบโฮมสคูล