Taiwan กับการสร้างนักเสพศิลป์

Taiwan กับการสร้างนักเสพศิลป์

 “การสอนศิลปะ  ไม่ใช่สอนเพียงเพื่อให้คนเป็นศิลปิน  แต่สอนให้คนคิดเหมือนศิลปินด้วย”         

ครูเจิ้น  ครูศิลปะจากโรงเรียนฟ่งซิน  เมือง Kaohsiung,Taiwan

>> มาไต้หวัน 2  ครั้ง  ครั้งแรก  7  วัน  ในฐานะนักท่องเที่ยว  ทำข้อมูลกันเอง อ่านเอา และเที่ยวเอง ไม่มีโอกาสได้พูด คุยลึกๆถึงเบื้องหลังของเบื้องหน้าที่เห็นแล้วที่รู้สึกประทับใจ   แล้วเห็นอะไรบ้างในตอนนั้น?

    เห็นความใส่ใจในการจัดการพื้นที่สาธารณะ  ไม่ว่าจะเป็นขนส่งสาธารณะ  เทรลเดินป่าเส้นทางจักรยาน  สนามเด็กเล่น  ถูกสร้างและออกแบบอย่างดี เห็นแล้วก็รู้ทันทีว่าไม่ใช่แค่มีงบประมาณมาสร้าง  แต่คิดอย่างละเอียด  ทั้งเรื่องการเข้าถึงของคนทุกวัย  ความสะดวกและความงาม
เห็นพื้นที่ศิลปะเกลื่อนเมือง  ทั้งสถานีรถMRT  ทั้งอาคารสถานที่  กำแพง ไม่เว้นแม้แต่ท่อระบายน้ำ   เห็นพิพิธภัณฑ์  โรงละคร แกลอรี่มากมาย  ในทุกเมือง  สิ่งเหล่านี้มีอยู่  แสดงว่าต้องมีผู้ชม

      กลับมาไต้หวันครั้งนี้  12 วัน ในฐานะนักเรียนรู้ คราวนี้ได้เจาะลึกได้พูดคุยกับผู้อยู่เบื้องหลังสิ่งที่เห็นครั้งก่อน
     ทำไมที่นี่มีพื้นที่ศิลปะอยู่ทั่วไป  ทำไมมีโรงละคร มีพิพิธภัณฑ์ มีแกลอรี่มากมาย  มีสิ่งเหล่านี้อยู่แสดงว่าต้องมีผู้ชม

เพราะถ้าไม่มีผู้เสพศิลป์แล้ว  ศิลปินจะอยู่ได้อย่างไร 

    มาครั้งนี้จึงถึงบางอ้อ  ประโยคข้างบนของครูสอนศิลปะ  ตอบเราชัดเจนว่าเมืองนี้ไม่ได้สร้างคนให้สร้างงานศิลป์เพื่อคว้ารางวัลเท่านั้น    แต่เมืองนี้สร้างผู้เสพศิลป์ด้วย  เพราะถ้าไม่มีผู้เสพศิลป์แล้ว  ศิลปินจะอยู่ได้อย่างไร  กระบวนการเรียนการสอนศิลปะที่นี่  จึงมุ่งเน้นไปที่กระบวนการคิดเหมือนศิลปิน  แล้วศิลปินคิดอย่างไร ???

วิธีคิดแบบศิลปินที่ครูว่า  คือการสอนให้เด็กรู้จักตั้งคำถาม  สังเกตุ สอนให้เด็กเข้าถึงความงาม  การสอนศิลปะที่เชื่อมโยงกับชีวิต เชื่อมโยงกับวิธีคิดทางสังคม ไม่ใช่ศิลปะเพียวๆเท่านั้น

ครูศิลปะกับครูคหกรรมบูรณาการการเรียนร่วมกัน เด็กจึงเรียนทำอาหารอย่างมีศิลปะ

ที่สำคัญทำสิ่งแวดล้อมรอบตัวให้มีสุนทรียะ  มีศิลปะอยู่ในทุกเรื่องราว  ศิลปะในอาหาร ศิลปะในการแต่งตัว  ครูศิลปะกับครูวิชาคหกรรมบูรณาการการเรียนรู้ร่วมกัน เด็กเรียนทำอาหารอย่างมีศิลปะ ไม่ใช่แค่ทำอาหารเป็นแต่ทำให้สวยด้วย จบด้วยถ่ายภาพอาหารอย่างไรให้สวย โอ้ยยย !! ครบถ้วน   ที่นี่เราเห็นห้องเรียนศิลปะที่แค่เข้าไปก็น่าเรียนโคตรๆแล้ว  ทุกอย่างถูกจัดวางอย่างมีศิลปะ  โต๊ะ เก้าอี้ มุมแสดงงาน  มีแม้กระทั่งมุมกาแฟ ครูเชิญบาริตต้ามืออาชีพมาสอนเด็กๆเรื่องกาแฟ  ไม่ใช่ให้ไปเป็นบาริตต้า  แต่สอนศิลปะในกาแฟ เด็ก ม.ปลาย มีแกลอรี่แสดงผลงานที่ไม่ใช่แค่เอางานมาติดตั้ง แต่ต้องบริหารจัดการแกลอรี่เองทุกอย่างตามโจทย์ในแต่ละเทอม   เราเห็น โรงเรียนประถมที่มีเด็กแค่   15 คน แต่แม้แต่เล้าไก่ หรือแปลงปลูกผักก็เป็นศิลปะ ไม่นับป้ายต่างๆ ในโรงเรียนช่างเจริญหูเจริญตาไปหมด

     เมื่อเด็กอยู่ในบรรยากาศของความงามของศิลปะ  การเข้าถึงสุนทรียะของศิลปะจึงไม่ใช่เรื่องยากสำหรับพวกเค้า  และมันไม่ใช่เรื่องยากเลยเมื่อเค้าอยู่ในวัยทำงาน  เค้าจะควักเงินซื้อตั๋วราคาแพงๆมาดูละคร  มาดูการแสดงกันเต็มโรง  นี่ไม่ต้องพูดถึงการเข้าชมศิลปะตามแกลอรี่ต่างๆที่ศิลปินมีงานแสดงอยู่บ่อยๆ แสดงว่ามีผู้ชมตลอด  และไม่ใช่เรื่องแปลกอีก  ถ้าเด็กที่ถูกหล่อหลอมให้มีสุนทรียะ โดขึ้นไปเป็นผู้บริหารประเทศ  จะมีนโยบายแปลงร่าง สร้างเมืองให้เต็มไปด้วยศิลปะ 

       ยอมสร้างรถไฟฟ้าเพิ่ม 1  สายที่มีเพียง 1  สถานีเพื่อให้ไปถึงห้องสมุดประชาชนที่นอกจากจะมีหนังสือมากมายแล้ว ยังเป็นห้องสมุดที่ดีไซน์กิ๊บเกร๋ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย แม้แต่จุดบริการนักท่องเที่ยว  ยังลงทุนดึงดูดผู้คนด้วยงานศิลปะของศิลปินจากนานาประเทศ มีเทศกาลดนตรีขนาดใหญ่ที่เนรมิตบรรยากาศในคืนพระจันทร์เต็มดวงริมทะเล ให้เต็มไปด้วยของสีสันดนตรีชนเผ่าที่สากลมากๆ  และงานคร๊าฟท์เต็มลาน ให้ผู้คนร่วม  5,000 คน  เข้าชมฟรี  

       มีนโยบายให้ NPO  ที่ทำงานศิลปะ เข้ามาบริหารจัดการพื้นที่ที่รัฐไม่ใช้แล้วให้เป็นพื้นที่ศิลปะ  เป็นสตูดิโอของศิลปินแทนที่จะทุบทิ้ง   มีนายทุนใหญ่ที่สัมปทานพื้นที่ของรัฐ  แต่แปลงร่างให้เป็นร้านหนังสือขนาดใหญ่  ลงทุนปรับปรุงพื้นที่ให้เป็นพื้นที่สวยงาม  ที่ผู้คนมาใช้บริการ  มาเสพศิลปะ มาถ่ายภาพ โดยไม่ต้องเสียตังค์ค่าเข้าชมแต่อย่างใด  มาถึงตรงนี้ก็แอบเปรียบเทียบไม่ได้อีกแล้วว่า ถ้านายทุนบ้านเราได้สัมปทานพื้นที่สถานีรถไฟซักแห่งมันจะถูกแปลร่างไปเป็นอะไร  อุ๊ย !!!   สลัดความคิดนี้ทิ้งไป เสียบรรยากาศหมดเลย

     เพราะฉะนั้นจะแปลกอะไร ถ้าที่นี่จะเป็นที่ที่ศิลปินจากทั่วโลกมาพำนัก  มาสร้างงาน และแสดงงานกันมากมาย

ในโทรศัพท์ของเด็กๆมีเพลงเป็นร้อยเป็นพันเพลง แต่จะมีซักกี่เพลงที่เด็กเข้าถึงความงามของดนตรี 

       ตัดกลับมาที่บ้านเรา (จริงๆไม่อยากเปรียบเทียบ เพราะมันเปรียบเทียบไม่ได้จริงๆ) เด็กของเราที่เก่งศิลปะ ฝีมือดีมีไม่ใช่น้อย  แต่กว่าจะได้ดีขนาดนั้น  ต้องเรียนพิเศษ  ต้องจ้างครูมาสอนกันมากมายขนาดไหน เพื่อให้วาดภาพเก่ง  ให้เล่นดนตรีเพราะ  เพื่อให้ได้รางวัลมา  แต่ขณะเดียวกันในโรงเรียนประถม(ส่วนใหญ่)ของเราไม่มีครูสอนศิลปะ วิชานาฎศิลป์ถูกตัดออกจากตารางการเรียนการสอน  เราไม่มีบรรยากาศของการเข้าถึงศิลปะ  เราไม่มีทักษะในการเสพศิลป์   น้าหมูพงษ์เทพ เคยพูดว่า “ในโทรศัพท์ของเด็กๆมีเพลงเป็นร้อยเป็นพันเพลง แต่จะมีซักกี่เพลงที่เด็กเข้าถึงความงามของดนตรี”   เพราะวิชาศิลปะในบ้านเรา คือต้องวาดเก่ง  เล่นดนตรีดี ต้องรำสวยเท่านั้น  เด็กวาดไม่เก่ง เล่นดนตรีไม่ได้  รำไม่สวยอย่างเราก็ตกขอบวิชานี้ไป  เพราะเราเรียนศิลปะเพื่อสร้างศิลปินเท่านั้น เราไม่มีวิธีคิดในการสร้างผู้คนของประเทศให้รู้จักความงาม  ให้มีอารมณ์สุทรียะ  ให้เป็นผู้เสพศิลปะเลย

        จึงไม่แปลกเลยที่โรงละครดีดีของพี่ๆเราจึงรอดยาก  เพราะไม่มีผู้เสพ  ที่จะรอดก็ต้องเป็นของทุนใหญ่ๆ สายป่านยาว  ไม่แปลกเลยที่คนบ้านเราเข้าแกลอรี่น้อย เพราะดูไม่รู้เรื่อง  ไม่แปลกอีกที่เด็กๆไม่มีทักษะในการชมละครเวที  ฟังเพลงแนวเดิมๆซ้ำๆ   ไม่แปลก และไม่ผิดเลย เพราะกระบวนการสอนให้คนมีทักษะในการเสพศิลป์ของเราอ่อนด้อยยิ่งนัก

ชีวิตของคนเราต้องขับเคลื่อนด้วยศิลปะ ไม่ว่าคุณจะอยู่ในอาชีพไหนก็แล้วแต่

      สิ่งที่พวกเรากำลังทำ คือ อะไร พวกเราพยายามอย่างยิ่งที่จะให้เด็กๆ เข้าถึงศิลปะอย่างเป็นธรรมชาติ  ใช้ศิลปะเป็นสื่อการเรียนรู้ สร้างสรรค์งานอีเวนต์ที่ไม่ใช่แค่จัดนิทรรศการแห้งๆ  หรือจัดเหมือนที่เค้าเคยๆทำกันมา แต่พยายามคิดสร้างสรรค์ให้เป็นพื้นที่ศิลปะ เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ที่ผู้คนเข้าถึงได้ พวกเราจัดกิจกรรมที่คิดรายละเอียดทั้งเสียง  แสง ภาพ  ที่เด็กได้เห็น  ได้ยินต้องมีความงามด้วย  พวกเราอยากให้มีนโยบายที่เอื้อให้เราทำแบบนี้ได้ง่ายขึ้น อยากให้ทุกโรงเรียนมีกระบวนการสอนศิลปะที่น่าสนใจแบบไต้หวัน  อยากให้รัฐช่วยสนับสนุนให้เรามีช่องทาง  มีทรัพยากรในการทำงานที่สะดวกขึ้น   แต่พวกเราไม่อยากคาดหวัง  และเรารู้ เรารอไม่ได้  พวกเราจึงลงมือทำ  ทำในพื้นที่ที่เราทำได้  ด้วยแรงที่เรามี  ด้วยทรัพยากรที่เราหาได้  เพื่อให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์  ให้เป็นพื้นที่ศิลปะที่ชุมชนเข้าถึงได้  เพื่อให้เด็กๆของเราเสพงานศิลปะ  เพื่อให้เด็กของเรามีทักษะในการเช้าถึงความงาม

   เพราะเราเชื่อเหลือเกินว่า  ชีวิตของคนเราต้องขับเคลื่อนด้วยศิลปะ  ไม่ว่าคุณจะอยู่ในอาชีพไหนก็แล้วแต่

การสร้างผู้คนในประเทศให้มีสุนทรียะ  ไม่ใช่เพียงเพื่อเสพงานศิลป์เป็นเท่านั้น  แต่เพื่อให้เค้าเอาศิลปะไปใช้กับชีวิต  เพื่อให้เค้าแก้ปัญหาชีวิตอย่างมีศิลปะด้วย <<<

เรื่องเล่าจาก TaiwanDjung

เล่าโดย..T O N S O M